.........................

รู้จักอาเซียน

  1. อาเซียน คืออะไร
              อาเซียน หรือ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นองค์การความร่วมมือทางการเมือง วัฒนธรรมและเศรษฐกิจของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


  2. สัญลักษณ์ของอาเซียนเป็นอย่างไร 


สัญลักษณ์ของอาเซียนหมายถึงอาเซียนที่มั่นคง มีสันติภาพ รวมกันเป็นหนึ่งเดียวและก้าวหน้า สีของสัญลักษณ์อาเซียนคือ น้ำเงิน แดง ขาว และเหลืองหมายถึงสีหลักของตราสัญลักษณ์ของประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สีน้ำเงินหมายถึงสันติภาพและความมั่นคง สีแดงหมายถึงความกล้าหาญและความก้าวหน้า สีขาวหมายถึงความบริสุทธิ์และสีเหลืองหมายถึงความเจริญรุ่งเรือง
รูปรวงข้าวสีเหลือง 10 ต้นมัดรวมกันไว้หมายถึง 10 ประเทศสมาชิกรวมกันเพื่อมิตรภาพและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน วงกลมหมายถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


3. คำขวัญของอาเซียนคืออะไร
           หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งเอกลักษณ์ หนึ่งประชาคม (One Vision, One Identity, One Community)


4. อาเซียนเริ่มต้นจากไหน (ประวัติอาเซียน)
            อาเซียน มีจุดเริ่มต้นเมื่อเดือน ก.ค. ปี พ.ศ. 2504 โดยประเทศไทย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ได้ร่วมกันจัดตั้งสมาคมอาสา หรือ Association of South East Asia ขึ้นเพื่อการร่วมมือกันทาง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม แต่ดำเนินการได้เพียง 2 ปี ก็ต้องหยุดชะงักลง เนื่องจากความผันแปรทางการเมืองระหว่าง ประเทศอินโดนีเซีย กับประเทศมาเลเซีย
    ต่อมามีการฟื้นฟูสัมพันธภาพระหว่างประเทศขึ้นจึงมีการมองหาลู่ทางจัดตั้งองค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจขึ้นในภูมิภาค สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และ พันเอก (พิเศษ) ดร.ถนัด คอมันตร์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศในสมัยรัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจร โดยมีการลงนาม ปฏิญญากรุงเทพฯที่วังสราญรมย์ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2510 (ค.ศ.1967) จาก คำประกาศอาเซียน (ASEAN Declaration) ซึ่งลงนามโดย รัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศสมาชิกก่อตั้ง 5 ประเทศ ได้แก่
          นายอาดัม มาลิก รัฐมนตรีว่าการะทรวงการต่างประเทศอินโดนิเซีย
          ตุน อับดุล ราซัก บิน ฮุสเซน รองนายกรัฐมนตรี  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติมาเลเซีย
          นายนาซิโซ รามอส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์
          นายเอส ราชารัตนัม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสิงค์โปร์
           และ พันเอก (พิเศษ) ดร.ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย
ต่อมาในปี พ.ศ .2527 (ค.ศ.1984) ประเทศบรูไนดารุสซาลามได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเป็นประเทศที่หก และมีเวียดนาม ลาว พม่า และ กัมพูชา เข้ามาเป็นสมาชิกตามลำดับ


5. อาเซียนมีสมาชิกกี่ประเทศ และมีประเทศใดบ้าง
            อาเซียนมีประเทศสมาชิกทั้งหมด 10 ประเทศ  ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา อินโดนิเซีย ลาว มาเลเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ สิงค์โปร์  ไทย และเวียดนาม


6อะไรคือวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งอาเซียน 
           วัตถุประสงค์สำหรับอาเซียน 7 ประการ ได้แก่
1. ส่งเสริมความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและความก้าวหน้าทางสังคมและวัฒนธรรม
2. ส่งเสริมการมีเสถียรภาพ สันติภาพและความมั่นคงของภูมิภาค
3. ส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม วิชาการ วิทยาศาสตร์ และด้านการบริหาร
4. ส่งเสริมความร่วมมือซึ่งกันและกันในการฝึกอบรมและการวิจัย
5. ส่งเสริมความร่วมมือในด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม การค้า การคมนาคม การสื่อสาร และการปรับปรุงมาตรฐานการดำรงชีวิต
6. ส่งเสริมการมีหลักสูตรการศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
7. ร่วมมือกับองค์กรระดับภูมิภาคและองค์กรระหว่างประเทศ


7. กฎบัตรอาเซียนคืออะไร
           กฎบัตรอาเซียน คือ ธรรมนูญของอาเซียนที่จะทำให้อาเซียนมีสถานะเป็นนิติบุคคล  เป็นการวางกรอบกฎหมายตลอดจนโครงสร้างองค์กรให้กับอาเซียน  โดยนอกจากการประมวลสิ่งที่ถือเป็นค่านิยม หลักการ และแนวปฏิบัติในอดีตของอาเซียนมาประกอบกันเป็นข้อปฏิบัติอย่างเป็นทางการสำหรับประเทศสมาชิกแล้ว  ยังมีการปรับปรุงแก้ไขและสร้างกลไกใหม่ขึ้นพร้อมกับกำหนดขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบขององค์กรสำคัญในอาเซียน  ตลอดจนความสัมพันธ์ในการดำเนินงานขององค์กรเหล่านี้  เพื่อให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบัน  โดยมีเป้าหมายให้อาเซียนเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
            กฎบัตรอาเซียนประกอบด้วย บทบัญญัติ 13 บท 55 ข้อ ครอบคลุมเป้าหมายและหลักการ สมาชิกภาพ โครงสร้างองค์กรของอาเซียน องค์กรที่มีความสัมพันธ์กับอาเซียน เอกสิทธิ์และความคุ้มกัน กระบวนการตัดสินใจ การระงับข้อพิพาท งบประมาณและการเงิน การบริหารจัดการ เอกลักษณ์และสัญลักษณ์ของอาเซียน และความสัมพันธ์กับภายนอก


8. ประชาคมอาเซียน คืออะไร
           ประชาคมอาเซียนประกอบด้วยความร่วมมือ 3 เสาหลัก คือ
1.ประชาคมการเมืองความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Security Community – ASC)
            มีวัตถุประสงค์ที่จะทำให้ประเทศในภูมิภาคอยู่อย่างสันติสุข โดยการแก้ไขปัญหาในภูมิภาคโดยสันติวิธีและยึดมั่นในหลักความมั่นคงรอบด้าน โดย
(1) ใช้ข้อตกลงและกลไกของอาเซียนที่มีอยู่แล้วในการเพิ่มศักยภาพในการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทภายในภูมิภาค รวมทั้งการเผชิญหน้ากับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ เช่น การก่อการร้าย การลักลอบค้ายาเสพติด การค้ามนุษย์ อาชญากรรมข้ามชาติอื่นๆ และการขจัดอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง
(2) ริเริ่มกลไกใหม่ๆในการเสริมสร้างความมั่นคงและกำหนดรูปแบบใหม่สำหรับความร่วมมือด้านนี้ ซึ่งรวมถึงการกำหนดมาตรฐาน การป้องกันการเกิดข้อพิพาท การแก้ไขข้อพิพาท และการสร้างเสริมสันติภาพภายหลังการยุติข้อพิพาท
(3) ส่งเสริมความร่วมมือทางทะเล ทั้งนี้ ความร่วมมือข้างต้นจะไม่กระทบต่อความเป็นอิสระของประเทศสมาชิกในการดำเนินนโยบายการต่างประเทศและความร่ วมมือทางทหารกับประเทศนอกภูมิภาค และไม่นำไปสู่การสร้างพันธมิตรทางการทหาร

2.ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community – AEC)
            มีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความมั่นคง มั่งคั่งและสามารถแข่งขันกับภูมิภาคอื่นๆ ได้ โดย
(1) มุ่งให้เกิดการไหลเวียนอย่างเสรีของสินค้า บริการ การลงทุน เงินทุน การพัฒนาทางเศรษฐกิจ และการลดปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางสังคมภายในปี 2558
 (2) ทำให้อาเซียนเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว (single marketand production base) โดยจะริเริ่มกลไกและมาตรการใหม่ๆ ในการปฏิบัติตามข้อริเริ่มทางเศรษฐกิจที่มีอยู่แล้ว
 (3) ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศสมาชิกใหม่ของอาเซียนเพื่อลดช่องว่างการพัฒนาและช่วยให้ประเทศเหล่านี้เข้าร่วมกระบวนการรวมตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียน
 (4) ส่งเสริมความร่วมมือในนโยบายการเงินและเศรษฐกิจมหภาค ตลาดการเงินและตลาดทุน การประกันภัยและภาษีอากร การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคม พัฒนาความร่วมมือด้านกฎหมาย การเกษตร พลังงาน การท่องเที่ยว การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยการยกระดับการศึกษาและการพัฒนาฝีมือแรงงาน

3.ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community - ASCC)
             มีจุดมุ่งหมายในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน และเสริมสร้างอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของอาเซียน เป็นกลไกสำคัญเพื่อการบรรลุจุดมุ่งหมายของประชาคมนี้ และรองรับการเป็นประชาคมซึ่งเน้นใน  4 ด้าน ได้แก่
 (1) การสร้างประชาคมแห่งสังคมที่เอื้ออาทร
 (2) แก้ไขผลกระทบต่อสังคมอันเนื่องมาจากการรวมตัวทางเศรษฐกิจ
 (3) ส่งเสริมความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมและการจัดการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างถูกต้อง
             (4) ส่งเสริมความเข้าใจระหว่างประชาชนในระดับรากหญ้า การเรียนรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม รวมทั้งการรับรู้ข่าวสารซึ่งเป็นรากฐานที่จะนำไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียน




ลิงค์เพิ่มเติม

พิพิธอาเซียน ตอน รู้จักอาเซียน (1) 

พิพิธอาเซียน ตอน รู้จักอาเซียน (2)

พิพิธอาเซียน ตอน รู้จักอาเซียน (3)

พิพิธอาเซียน ตอน รู้จักอาเซียน (4)

พิพิธอาเซียน ตอน รู้จักอาเซียน (5)